logo
กรมธนารักษ์
สำนักงานธนารักษ์พื้นที่เลย
THE TREASURY
DEPARTMENT
MENU
  • A
  • A
  • A

เกี่ยวกับจังหวัด

คำขวัญประจำจังหวัด

"เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู ถิ่นที่อยู่อริยสงฆ์ มั่นคงความสะอาด"   

สัญลักษณ์ประจําจังหวัด
พระธาตุศรีสองรักษ์   มีภูกระดึงอยู่เบื้องหลัง 

 

 

                                     ต้นไม้ประจำจังหวัด                                       ดอกไม้ประจำจังหวัด
                                             สนสามใบ                                                ดอกรองเท้านารีเหลืองเลย

  
                                                                  

 

  • ประวัติศาสตร์จังหวัดเลย

          มีหลักฐานเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาว่า ก่อตั้งโดยชนเผ่าไทยที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่ก่อตั้ง อาณาจักรโยนกเชียงแสนโดยพ่อขุนบางกลางหาว และ พ่อขุนผาเมือง(เชื่อถือกันว่าเป็นเชื้อสายราชวงศ์สิงหนวัติ) ได้มีผู้คนอพยพจากอาณาจักร   โยนกเชียงแสนที่ล่มสลายแล้ว ผ่านดินแดนล้านช้างข้ามลำน้ำเหืองขึ้นไปทางฝั่งขวาของลำน้ำหมันถึงบริเวณที่ราบ พ่อขุนผาเมืองได้ตั้งบ้านด่านขวา (ปัจจุบันอยู่ในบริเวณชายเนินนาด่านขวา ซึ่งมีซากวัดเก่าอยู่ในแปลงนาของเอกชน ระหว่างหมู่บ้านหัวแหลมกับหมู่บ้านนาเบี้ย อำเภอด่านซ้าย) ส่วนพ่อขุนบางกลางหาวได้แบ่งไพร่พลข้ามลำน้ำหมันไปทางฝั่งซ้าย สร้างบ้านด่านซ้าย (สันนิษฐานว่าอยู่ในบริเวณหมู่บ้านเก่า อำเภอด่านซ้ายในปัจจุบัน) ต่อมาจึงได้อพยพเลื่อนขึ้นไปตามลำน้ำไปสร้างบ้านหนองคู และได้นำนามหมู่บ้านด่านซ้าย มาขนานนามหมู่บ้านหนองคูใหม่ เป็น "เมืองด่านซ้าย" อพยพไปอยู่ที่เมืองบางยางในที่สุด โดยมีพ่อขุนผาเมืองอพยพผู้คนติดตามไปตั้งเมืองราด (เชื่อว่าเป็นเมืองศรีเทพ อยู่ในท้องที่อำเภอศรีเทพและอำเภอวิเชียรบุรีจังหวัดเพชรบูรณ์) และตั้งเมืองด่านซ้าย เป็นเมืองหน้าด่านทางตะวันออกของเมืองบางยาง    นอกจากนี้แล้ว ยังมีชาวโยนกอีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนระหว่างชายแดนตอนใต้ของ อาณาเขต ล้านนาต่อแดนล้านช้างอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะอพยพหนีภัยสงครามข้ามลำน้ำเหืองมาตั้งเมืองเซไลขึ้น (สันนิษฐานว่าอยู่ในท้องที่หมู่บ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง) จากหลักฐานในสมุดข่อยที่มีการค้นพบ เมืองเซไลอยู่ด้วยความสงบร่มเย็นมาจนกระทั่งถึงสมัยเจ้าเมืองคนที่ 5 เกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง ฝนฟ้าไม่ตก จึงได้พา  ผู้คนอพยพไปตามลำแม่น้ำเซไลถึงบริเวณที่ราบระหว่างปากลำห้วยไหลตก แม่เซไล จึงได้ตั้งบ้านเรือนขึ้นขนานนามว่า "บ้านแห่" (บ้านแฮ่) ส่วนลำห้วยให้ชื่อว่า "ห้วยหมาน"   ในปี พ.ศ. 2396พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาเห็นว่า หมู่บ้านแฮ่ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งห้วยน้ำหมาน และอยู่ใกล้กับแม่น้ำเลย มีผู้คนเพิ่มมากขึ้น สมควรจะได้ตั้งเป็นเมือง เพื่อประโยชน์ในการปกครองอย่างใกล้ชิด จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นเมืองเรียกชื่อตามนามของแม่น้ำเลยว่า เมืองเลย ต่อมา พ.ศ. 2440ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองพื้นที่ ร.ศ.116 แบ่งการปกครองเมืองเลยออกเป็น 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกุดป่อง อำเภอท่าลี่ อำเภอนากอก (ปัจจุบันอยู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) อำเภอที่ตั้งเมืองคือ อำเภอกุดป่อง ต่อมา พ.ศ.2442-2449ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเลยเป็น บริเวณลำน้ำเลย พ.ศ. 2449-2450เปลี่ยนชื่อบริเวณลำน้ำเลยเป็นบริเวณลำน้ำ เหือง และใน พ.ศ. 2450 ได้มีประกาศของกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 4 มกราคมพ.ศ.2450 ยกเลิกบริเวณลำน้ำเหือง ให้คงเหลือไว้เฉพาะ "เมืองเลย" โดยให้เปลี่ยนชื่ออำเภอกุดป่อง เป็น "อำเภอเมืองเลย"

  • ภูมิศาสตร์ที่ตั้งและภูมิประเทศ

          จังหวัดเลย อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบนของประเทศไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 11,424,612 ตารางกิโลเมตร หรือ 7,140,382 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 6.77 ของพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  จังหวัดเลยตั้งอยู่บนพื้นที่ราบสูงโคราชหรือที่เรียกกันว่า แอ่งสกลนครลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทิวเขาในแนวทางทิศเหนือใต้ และจะมีพื้นที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาที่ไม่ใหญ่มากนัก สลับกันอยู่ในแนวเทือกเขา  สภาพภูมิศาสตร์ของจังหวัดเลยเป็นที่ราบสูง มีภูเขาสูงกระจัดกระจาย โดยเฉพาะทางตะวันตกและทางด้านใต้ของจังหวัด ทั้งนี้ยังมีแหล่งน้ำสำคัญคือแม่น้ำโขง ในบริเวณตอนบนของจังหวัด

  • ลักษณะทางภูมิอากาศ

          จังหวัดเลยเป็นจังหวัดที่เรียกได้ว่าหนาวที่สุดของประเทศ เคยมีอุณหภูมิต่ำสุดประมาณ -1.3 องศาเซลเซียส (2 มกราคม พ.ศ. 2517) อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 43.5 องศาเซลเซียส (25 เมษายน พ.ศ. 2517) อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 26.1 องศาเซลเซียส และจะมีอุณหภูมิที่หนาวจัดในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม โดยช่วง 12 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 2.7 องศาเซลเซียส (พ.ศ. 2542) อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 42.5 องศาเซียลเซียส (พ.ศ. 2541)

  • ลักษณะทางสังคม

          จังหวัดเลยมีโครงสร้างทางสังคมแบบประเพณีนำ คนพื้นเมืองส่วนใหญ่ต่างจากคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั่วๆ ไปซึ่งเป็นคนไทยเผ่าพวน แต่เป็นคนไทยเผ่าลื้อจากลานช้างและหลวงพระบาง เช่นเดียวกัน

  • กลุ่มเชื้อชาติประชากร 

- ชาว ไทเลย 

     ไทเลย เป็นชื่อเรียกคนเมืองเลย ในประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า คนเมืองเลยคือกลุ่มชนที่อพยพจากชายแดนตอนเหนืออาณาจักรสุโขทัย ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากไทหลวงพระบาง เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองเซไล(บ้านทรายขาว อำเภอวังสะพุงปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2396ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านแห่ (บ้านแฮ่ปัจจุบัน) ได้ตั้งบ้านเรือนเรียกว่าเมืองเลย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมืองเลยก็รวมตัวกันเป็นเมืองใหญ่ โดยการรวมตัวของ อำเภอกุดป่องอำเภอท่าลี่ซึ่งขึ้นกับมณฑลอุดร อำเภอด่านซ้ายซึ่งขึ้นกับมณฑลพิษณุโลก เมืองเชียงคานซึ่งขึ้นกับเมืองพิชัย อำเภอต่าง ๆ เหล่านี้จึงโอนขึ้นกับเมืองเลยทั้งหมดตั้งแต่ พ.ศ. 2450เป็นต้นมา

     ชาวไทเลยจะมีนิสัยใจคอเหมือนกับชนเชื้อชาติโบราณซึ่งไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง ไปจากดั้งเดิม มีสำเนียงพูดที่แปลกและนิ่มนวล พูดสุภาพและไม่ค่อยพูดเสียงดัง กิริยามารยาทดีงาม อารมณ์เยือกเย็นไม่วู่วาม มีนิสัยรักความสงบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักถิ่นที่อยู่ไม่ค่อยอพยพไปอยู่ที่อื่น ส่วนทางด้านวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา ได้แก่ "ฮีตสิบสองคองสิบสี่ คือการทำบุญตามประเพณีทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี  บ้านชาวไทเลยเป็นเรือนหลังใหญ่ ยกพื้นสูงมีระเบียงหรือชานยื่นออกมาหน้าเรือน มีเรือนครัวซึ่งส่วนใหญ่จะสร้างแยกต่างหากโดยมีชานต่อเชื่อมติดกัน สำหรับหลังคาของเรือนนอนมุงด้วยหญ้าคาหรือไม้แป้นเก็ด ฝาเรือน พื้นเรือนนิยมทำด้วยไม้แผ่นเรียกว่า ไม้แป้น ส่วนเสาจะใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นต้นๆ หรืออิฐก่อเป็นเสาใหญ่ มีบันไดไม้พาดไว้สำหรับขึ้นลง ส่วนเรือนครัวมุงด้วยหญ้าคา ฝาและพื้น จะนิยมทำด้วยฟากไม้ไผ่สับแผ่ออกเป็นแผ่น และเสาจะทำด้วยไม้เนื้อแข็งเช่นกัน

จังหวัดเลย มีคนพื้นเมืองที่มีเชื้อชาติไทย ซึ่งเรียกตัวเองว่า ไทเลย เป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ก็มีคนเชื้อชาติจีน ชาวเขา ไทดำ ไทพวน

- ชาว ไทดำ 

     ชาวไทดำ อพยพมาจากแคว้นพวน ในประเทศลาวปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2417เมื่อพวกฮ่อยกกำลังมาตีเมืองเชียงขวาง ซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญในแคว้นพวน จึงได้เริ่มอพยพลงมาตามเส้นทางเรื่อยๆ จนได้มาพักที่บ้านน้ำก้อใหญ่ ตำบลน้ำก้อ อำเภอหล่มสักจังหวัดเพชรบูรณ์ต่อมามีชาวไทยดำกลุ่มหนึ่ง ได้เดินทางข้ามแม่น้ำโขง ไปยังบ้านน้ำกุ่ม แขวงเวียงจันทน์ แต่ในขณะนั้นเขตเวียงจันทน์มีปัญหาการเจรจากับฝรั่งเศส ไทดำจึงข้ามแม่น้ำโขงกลับมาตั้งหมู่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน ซึ่งเป็นถิ่นฐานดั้งเดิม และถาวรจนถึงปัจจุบัน ที่หมู่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน เมื่อปี พ.ศ. 2438มี 15 ครัวเรือน ปัจจุบันชาวไทดำ มีจำนวน 825 ครัวเรือน มีอาชีพส่วนใหญ่ทางการเกษตรกรรม

- ชาว ไทพวน 

     ชาวไทพวน ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านบุฮมและบ้านกลาง อำเภอเชียงคานจากถิ่นฐานเดิมที่เมืองเตาไห หลวงพระบาง ประเทศลาว เมื่อครั้งพวกจีนฮ่อ กลา เวียง รุกรานเมืองเตาไห

- ชาว ไทใต้ 

     ชาวไทใต้ อพยพมาจากภาคอีสานเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเลย ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดกาฬสินธุ์จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดยโสธรเมื่อ   พ.ศ. 2506จะพบชาวไทใต้จำนวนมากที่อำเภอเอราวัณและอำเภอนาด้วงภาษาพูด แตกต่างจากภาษาไทเลย เพราะได้สืบทอดมาจากถิ่นเดิมของตน เช่น ภาษาไทยอีสานภาษาถิ่นอุบล ภาษาไทยโคราช

       สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดเลย

 

                              

ศาลเจ้าพ่อกุดป่องและศาลหลักเมือง : เป็นศาลเก่าแก่ที่ประชาชนเคารพนับถือ อยู่ห่างจากวงเวียนน้ำพุประมาณ 100 เมตร ติดกับสวนสาธารณะกุดป่อง ศาลหลักเมืองสร้างจากไม้ราชพฤกษ์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2525 โดยแกะสลักเป็นรูปหัวเม็ดทรงมัณฑน์ ลงรักปิดทองทั้งองค์ มีความสูง 139 เซนติเมตร

อาคารที่ทำการ ททท. สำนักงานเลย เดิมคือเป็นศาลากลางจังหวัดและที่ว่าการอำเภอเมือง อยู่ในบริเวณสวนสาธารณะกุดป่อง ถนนเจริญรัฐ ใกล้กับเทศบาลเมืองเลย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถเคยเสด็จพระราชดำเนินมาเมื่อคราวเสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวจังหวัดเลย เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2498

และได้ทรงประทับแรมบนมุขแรกชั้นบน สำหรับพระเก้าอี้ที่ประทับ สภาวัฒนธรรมจังหวัดเลย อัญเชิญมาเก็บรักษาไว้ที่มุขแรกชั้นบนของอาคาร อาคารหลังนี้สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2476 ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเพื่อการอนุรักษ์ ชั้นบนจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองเลย ชั้นล่างเป็นที่ทำการ ททท.สำนักงานเลย

พิพิธภัณฑ์เมืองเลย : ตั้งอยู่ที่ว่าการอำเภอเมืองหลังเก่า (ชั้นบนของอาคาร ททท.สำนักงานเลย) เป็นพื้นที่โบราณสถานแห่งชาติ อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเลย ใช้สำหรับจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของอดีตและปัจจุบัน และเป็นแหล่งรวบรวมภูมิประวัติ ภูมิปัญญาสาขาต่างๆ ทั้งในส่วนของศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ของท้องถิ่น

แบ่งออกเป็นสามส่วน

ห้องที่ 1 จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองเลย

ห้องที่ 2 จัดแสดงเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญของจังหวัดเลย พร้อมการจัดแสดงเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันในอดีตของชาวไทเลย

ห้องที่ 3 รอยเสด็จ จัดแสดงพระเก้าอี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฯ เสด็จเยือนจังหวัดเลย จำนวน 3 ครั้ง ในปี พ.ศ.2498 เสด็จประทับปลูกต้นสนบนภูกระดึง ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ.2516 เสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวบ้าน อำเภอด่านซ้าย ครั้งที่ 3 ปี พ.ศ.2524 เสด็จฯ ทรงเป็นมิ่งขวัญกำลังใจไทยอาสาป้องกันชาติ ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดเลย

ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลย : เป็นอาคาร 2 ชั้น ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เป็นสถานที่รวบรวมและเผยแพร่เรื่องราวทางด้านศาสนา ประเพณี และวิถีชีวิตของชาวเลยในหลายๆ ด้าน มีการจัดแสดงแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ห้องประชุมและฉายสไลด์เกี่ยวกับเมืองเลยและแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในอดีต ส่วนที่สองเป็นห้องนิทรรศการชั่วคราวจัดแสดงเกี่ยวกับพระพุทธรูปเก่าที่ทำมาจากไม้ หินทราย ดินเผาและเงิน หน้ากากผีตาโขน ข้าวของเครื่องใช้โบราณ ซึ่งของทั้งหมดได้มาจากชาวบ้านในท้องถิ่นเมืองเลย

นอกจากนี้ยังมีส่วนนิทรรศการหมุนเวียนทุก 3 เดือนโดยจัดแสดงเรื่องราวต่าง ๆ ของเมืองเลยตามเทศกาลประเพณี และห้อง “เบิ่งไทเลย” จัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับจังหวัดเลย เนื้อหาของนิทรรศการครอบคลุมในทุกด้านทั้งธรณีวิทยา ภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ ประเพณีและกลุ่มชาติพันธุ์ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30-16.00 น.

หากเข้าชมเป็นหมู่คณะควรทำหนังสือแจ้งล่วงหน้าเพื่อความสะดวก ติดต่อที่ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลย มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย ถนนเลย-เชียงคาน อำเภอเมือง จังหวัดเลย 42000

สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 4283 5223-8 ต่อ 5128 การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 201 (เลย-เชียงคาน) ระยะทาง 5 กิโลเมตร

วัดถ้ำผาปู่ หรือ ถ้ำเพียงดิน : บริเวณวัดมีลักษณะเป็นโพรงถ้ำขนาดใหญ่อยู่ใต้ภูเขาหิน มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำ และมีหินงอก หินย้อย ภายนอกถ้ำเป็นแหล่งอาศัยของค่างแว่น ชะนี และลิง ในวัดจะมีพระธาตุบรรจุอัฐิของหลวงปู่คำดี ปภาโส ซึ่งเป็นผู้ค้นพบวัดแห่งนี้ การเดินทางสามารถใช้เส้นทางเลย-เชียงคาน ออกจากตัวเมืองเลยไปประมาณ 7 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางอำเภอท่าลี่ 3 กิโลเมตร

 

                                        

วนอุทยานภูผาล้อม : วนอุทยานฯ ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำสวย อยู่ห่างจากตัวเมืองเลยประมาณ 24 กิโลเมตร เป็นภูเขาหินปูนสูงชันที่มียอดหยักแหลมมากมายโอบล้อมเสมือนเป็นกำแพงตรงกลางเป็นผืนป่าดิบ มีพืชสมุนไพร จุดชมวิว และถ้ำต่าง ๆ ได้แก่ ถ้ำแก้ว ถ้ำผาบ่อง รวมทั้งบ่อน้ำซับ หรือน้ำผุด เชื่อกันว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่ใจกลางป่า เป็นรูของพญานาคซึ่งเป็นทางน้ำใต้ดินที่ไปทะลุออกแม่น้ำโขงได้ การเดินทางเข้าชมต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักแรม สามารถกางเต็นท์พักแรมได้บริเวณที่ทำการวนอุทยานฯ ควรติดต่อล่วงหน้าก่อน 1 เดือน ได้ที่ วนอุทยานภูผาล้อม ตู้ ปณ. 7 ปทจ. เลย จังหวัดเลย 42000

การเดินทางใช้เส้นทางเลย-นาด้วง ทางหลวงหมายเลข 2138 ออกจากตัวเมืองเลยไปประมาณ 9 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายตามเส้นทางเลย-บ้านเพีย ทางหลวงหมายเลข 2249 อีก 9 กิโลเมตร ถึงบ้านเพียมีทางแยกให้เลี้ยวขวาข้างวัดเลียบ เข้าเส้นทางหมายเลข 3117 ตรงไปอีก 2 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายอีก 4 กิโลเมตร

วัดศรีคุณเมือง : อยู่บนถนนชายโขง ซอย 7 ทางด้านเหนือของตลาดเชียงคาน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2485 วัดนี้เป็นแหล่งรวมงานศิลปะทั้งแบบล้านนาและล้านช้างดังจะเห็นได้จากโบสถ์ ที่มีหลังคาลดหลั่นตามแบบศิลปะล้านนา ศิลปวัตถุที่สำคัญมีหลายชิ้น

เช่น พระพุทธรูปไม้จำหลัก ลงรักปิดทองปางประทานอภัยแบบล้านช้าง พระพุทธรูปดังกล่าวมีพระเกศาเป็นปุ่มแหลมเล็ก พระกรรณค่อนข้างแหลมและยาว สันนิษฐานว่ามีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 24-25 นอกจากนี้ยังมีธรรมาสน์ไม้แกะสลักลงรักปิดทองทุกด้านที่พนักหลังมียอดคล้ายปราสาท ด้านหน้าโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่เต็มหน้าบัน ภาพทั้งหมดเป็นภาพนิทานชาดกชุดพระเจ้าสิบชาติซึ่งวาดขึ้นใหม่แทนของเดิม

แก่งคุดคู้ : เป็นแก่งหินใหญ่ขวางอยู่กลางลำน้ำโขงช่วงโค้งของลำน้ำพอดี ทำให้เกิดกระแสน้ำเชี่ยวไหลผ่านแก่ง ในหน้าน้ำ น้ำจะท่วมจนไม่เห็นแก่ง เวลาที่เหมาะจะชมแก่งคุดคู้คือช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม น้ำแห้งจนสามารถมองเห็นเกาะแก่งชัดเจน มีโค้งสันทรายริมแม่น้ำ บริเวณแก่งคุดคู้มีบริการเช่าเรือยนต์ล่องแม่น้ำโขง ใช้เวลาไป-กลับประมาณ 1 ชั่วโมง ราคาแล้วแต่จะตกลง เดินทางจากตัวอำเภอเชียงคานนักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถสายรอบเมืองไปแก่งคุดคู้ได้ซึ่งห่างจากตัวอำเภอเชียงคานไปประมาณ 5 กิโลเมตร

พระพุทธบาทภูควายเงิน : พระพุทธบาทภูควายเงินเป็นรอยพระพุทธบาทยาวประมาณ 120 เซนติเมตร กว้าง 65 เซนติเมตร ประดิษฐานบนหินลับมีด ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2478 เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านในแถบนี้มาก เมื่อครั้งที่การเดินทางมาลำบาก จะเชื่อกันว่าคนที่มีบุญวาสนาเท่านั้นจึงจะมากราบไหว้ได้ คนวาสนาไม่ถึงจะมีเหตุให้มาไม่ได้ทั้งที่ตั้งใจ ทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ทุกปีจะมีงานสมโภชประจำปีซึ่งถือเป็นงานสำคัญ พระพุทธบาทฯ อยู่ที่บ้านผาแบ่น ตำบลบุฮม เดินทางใช้เส้นทางสายเชียงคาน-ปากชม ระยะทาง 6 กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านผาแบ่นมีทางแยกเข้าบ้านอุมุง 3 กิโลเมตร จะถึงทางขึ้นเขาเป็นทางลาดยางระยะทาง 1 กิโลเมตร

สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2544 โดยรอบเป็นจุดชมทัศนียภาพที่สวยงามของแม่น้ำโขง และประเทศลาวได้ เดินทางจากตัวเมืองเลยใช้ทางหลวงหมายเลข 201 (เลย-เชียงคาน) ไป 47 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายบริเวณสามแยกตรงไปจนถึงบ้านท่าดีหมี (ระยะทาง 20 กิโลเมตร) และเลี้ยวขวาที่โรงเรียนบ้านท่าดีหมี ไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร

 

                                                  

ถนนคนเดินเชียงคาน : เชียงคาน เมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำโขงสุดชายแดนไทย เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเลย ที่คงยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรม ขนบประเพณี การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย พอเพียง วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ซึ่งหาดูยากในปัจจุบัน เมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบ แห่งนี้ กำลังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก  ภาพบ้านเก่าๆที่เรียงรายติดกันอยู่ริมถนนชายโขง ดึงดูดใจ ให้นักท่องเที่ยวหลายต่อหลายรุ่นต่างหลั่งไหลเดินทางกันมาที่นี่ บ้านเรือนที่เมืองเชียงคานจะแบ่งออกเป็นซอย เล็กๆ เรียกว่า ถนนศรีเชียงคาน ขนานคู่กันไปไปกับถนนใหญ่ซึ่งเป็นถนนสายหลัก เริ่มตั้งแต่ถนนศรีเชียงคาน ซอยที่ 1- 24  แบ่งเป็นถนนศรีเชียงคานฝั่งบนกับฝั่งล่างซึ่งชื่อซอยเหมือนกัน

หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ : เป็นหมู่บ้านที่ชาวไทดำอพยพมาจากเมืองเชียงขวาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาลงหลักปักฐานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2448 ปัจจุบันยังมีการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทดำ บ้านเรือนที่สร้างขึ้นตามแบบเอกลักษณ์ดั้งเดิมของชาวไทดำ รวมทั้งเครื่องใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในอดีต และยังมีการรวมกลุ่มทอผ้าพื้นเมือง

ใครอยากสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ชาวไทดำแบบโฮมสเตย์ สามารถติดต่อได้ที่สมาคมอนุรักษ์วัฒนธรรมไทดำก่อนล่วงหน้าประมาณ 1 สัปดาห์

โทร. 08 1048 2000 , 08 4925 0771 ค่าที่พัก 100 บาท ต่อคนต่อคืน ค่าอาหาร 80 บาทต่อคนต่อมื้อ

หมู่บ้านตั้งอยู่ที่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว เดินทางใช้เส้นทางเลย-เชียงคาน ไปประมาณ 38 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางไปบ้านนาสีจนถึงบ้านนาป่าหนาดอีกประมาณ 10 กิโลเมตร

ประเพณีการแข่งขันเรือกาบ ระหว่างไทย- สปป.ลาว : จัดขึ้นในช่วงเทศกาลงานบุญออกพรรษา โดยความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนทั้งสองฝั่งโขงที่ใช้เรือกาบในการสัญจรไป- มาระหว่างกัน เมื่อว่างเว้นจากการจับปลาจึงนำเรือมาแข่งขันกันเพื่อกระชับสัมพันธ์ของประชาชนสองฝั่งโขง การแข่งขันนี้จัดขึ้น ณ บริเวณ อบต.หาดคัมภีร์ ริมฝั่งแม่น้ำโขง อำเภอปากชม

 

                                             

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ; ภูหลวงมีความหมายว่าเขาที่สูงใหญ่ หรือหมายถึงภูเขาของพระเจ้าแผ่นดิน เกิดจากการยกตัวของพื้นผิวโลกและดินส่วนที่อ่อนพัดพาลงสู่พื้นที่ส่วนต่ำ ภูหลวงได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2517 มีพื้นที่ประมาณ 560,593 ไร่ สภาพทั่วไปเป็นพื้นที่ราบสูง อากาศเย็นตลอดปี ตั้งอยู่ในบริเวณท้องที่อำเภอวังสะพุง อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย และอำเภอภูหลวง

บนภูหลวงจะมี 3 ฤดู เหมือนพื้นราบ แต่ระดับอุณหภูมิต่างกัน ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 20-24 องศาเซลเซียส ช่วงนี้จะมีดอกไม้ที่มีสีสันเจิดจ้าสวยงามเช่นเอื้องตาเหิน กล้วยไม้ป่าดอกขาว กุหลาบขาว ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม จะเป็นเวลาที่เหมาะการชมทุ่งกุหลาบขาว และกุหลาบแดง

ฤดูฝนจะอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ระยะนี้จะมีดอกไม้ป่าดอกเล็ก ๆ สีชมพูอมม่วงขึ้นแซมตามทุ่งหญ้า ฤดูหนาวอุณหภูมิเฉลี่ย 0-16 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม จะมีก่วมแดง หรือเมเปิ้ล เปลี่ยนสี ก่อนจะผลัดใบร่วงหล่นอยู่ตามพื้นดิน จะเห็นต้นกระดุมเงินและรองเท้านารีปีกแมลงปอขึ้นอยู่บนก้อนหินและตามพื้นป่าดิบเขา

ด้านตะวันออกของเทือกภูหลวงมีการค้นพบซากหินรอยเท้าไดโนเสาร์อายุกว่า 120 ล้านปี นอกจากนี้ยังมีป่าหลากชนิด เช่น ป่าผลัดใบหรือป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา แต่ป่าที่โดดเด่นที่สุดบนภูหลวง คือป่าสนสองใบ สนสามใบ และทุ่งหญ้าตามพื้นที่ราบ เนินเขาและลานหิน

นอกจากนั้นทางเขตฯ ได้จัด เส้นทางศึกษาธรรมชาติภูหลวง เป็นเส้นทางที่ขึ้นทางอำเภอภูเรือ โดยเริ่มจากโคกนกกระบา ผ่านลานสุริยัน ผาสมเด็จ รอยเท้าไดโนเสาร์ ระหว่างทางจะพบกุหลาบขาว กุหลาบแดง และกล้วยไม้ป่าต่าง ๆ โดยใช้ระยะทางเป็นเวลา 1-2 วัน

นักท่องเที่ยวที่เดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติจะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่นำทาง การเดินทางขึ้นภูหลวง ควรติดต่อล่วงหน้า 15 วัน ที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพฯ โทร. 0 2561 0777 ต่อ 659 หรือ www.dnp.go.th

ช่วงที่เหมาะในการชมภูหลวง คือ ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤษภาคม เขตรักษาพันธุ์ฯ จะปิดในช่วงฤดูฝน การเข้าไปเที่ยวชมจะต้องเสียค่าธรรมเนียม ชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท

การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 203 เลย-ภูเรือ ไปประมาณ 36 กิโลเมตร ถึงบ้านสานตม แล้วเลี้ยวซ้ายด้านข้างโรงเรียนบ้านสานตม ไปตามทางลาดยาง 18 กิโลเมตร จนถึงด่านตรวจห้วยทอง และเดินทางต่อไปตามเส้นทางลาดยางอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะถึงหน่วยพิทักษ์ฯ โคกนกกระบา ในกรณีที่ไม่สามารถนำรถขึ้นไปได้ บริเวณด่านตรวจห้วยทอง จะมีรถกระบะสองแถวให้เช่าไว้คอยบริการ

โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ผานาง-ผาเกิ้ง : เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โครงการจะมีการส่งเสริมทอผ้าไหม เครื่องหัตถกรรม เครื่องครัวผลิตจากไม้ไผ่และไม้สัก โรงเพาะเห็ดหลินจือ เห็ดหอม เห็ดนางฟ้า มีสินค้าของแต่ละผลิตภัณฑ์จำหน่าย รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น การตกปลา ขี่จักรยานท่องเที่ยว ให้อาหารสัตว์นานาชนิด ชมวิวทิวทัศน์รอบ ๆ บริเวณโครงการ และมีที่พักไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยวด้วย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 4281 2290 การเดินทางใช้เส้นทางเลย-วังสะพุง ระยะทาง 20 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปอำเภอเอราวัณประมาณ 31 กิโลเมตร จนถึงโรงเรียนบ้านวังสำราญ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 1.5 กิโลเมตร

ถ้ำผาสวรรค์ : ถ้ำผาสวรรค์ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านเพิ่ม เป็นถ้ำที่มีภูมิทัศน์สวยงาม ในถ้ำมีอุโมงค์หินงอกหินย้อย มีทางขึ้นลดหลั่นเป็นชั้นๆ ตามธรรมชาติ และบริเวณโดยรอบยังคงมีสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ

 

                                            

 

ล่องแพบ้านห้วยไฮ : ที่นี่จะมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีบรรยากาศที่สวยงาม สามารถล่องแพดูทิวทัศน์ที่งดงามของภูเขา และสายน้ำ ตั้งอยู่ที่ ตำบลโนนป่าซาง บ้านห้วยไฮ

ภูผาขาว : ตั้งอยู่ที่ ตำบลผาขาว เป็นถ้ำขนาดใหญ่คล้ายอ่างน้ำของภูเขาหลายลูกต่อกันยาว ได้รับการอนุรักษ์ทั้งต้นไม้และสัตว์ป่าซึ่งมีหลายชนิด อาทิ หมี เลียงผา ลิง ภายใต้การดูแลอนุรักษ์และเปิดให้เที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ โดย อบต.ผาขาว

สวนหินผางาม หรือคุนหมิงเมืองไทย : อยู่ที่บ้านผางาม หมู่ 10 ตำบลปวนพุ เป็นสวนหินปูนอายุประมาณ 230-280 ล้านปี ที่เกิดจากการสะสมตัวของตะกอนชายฝั่งระดับตื้น ต่อมาเปลือกโลกยกตัวขึ้น รวมถึงมีการผุพังจากธรรมชาติหลายล้านปี ทำให้ภูเขามีลักษณะสวยงามแปลกตาคล้ายกับสวนหินที่เมืองคุนหมิง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จนได้รับการขนามนามว่า “คุนหมิงเมืองไทย”

เนื่องจากทางเดินภายในสวนหินแคบและวกวนอาจมีการพลัดหลงได้ ที่นี่จึงมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีเจ้าหน้าที่ให้บริการพาชมเป็นกลุ่ม ๆ ละ 10 คน ค่าบริการนำชม 100 บาท/กลุ่ม

เส้นทางที่น่าสนใจได้แก่ ถ้ำทะลุ ภูเขาทรงแปลกคล้ายรูปสัตว์ จุดชมวิวที่ยอดเขาผาบ่อง หรือภูเขาหินที่มีลักษณะเป็นช่องทะลุตรงกลาง โดยแต่ละจุดจะมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป สอบถามข้อมูลได้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลปวนพุ โทร. 0 4289 4254

การเดินทางจากอำเภอหนองหินใช้เส้นทางหมายเลย 201 เลย-ชุมแพ ไปประมาณ 43 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปประมาณ 19 กิโลเมตร

 

                                            

 

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง : ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีฐาน ได้รับการประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2505 มีพื้นที่ 217,576 ไร่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะมีสภาพธรรมชาติสมบูรณ์ประกอบด้วยระบบนิเวศและภูมิประเทศหลากหลายทั้งทุ่งหญ้า ป่าสนเขา ป่าดิบ ป่าต้นเมเปิ้ล พันธุ์ไม้ดอกที่สวยงาม กุหลาบป่า เอื้องคำหิน น้ำตกและหน้าผาชมทิวทัศน์ จุดเด่นของอุทยานฯแห่งนี้คือเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด และที่ราบขนาดใหญ่คล้ายใบบอน หรือรูปหัวใจ มีความสูง 400 – 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ ได้แก่ เส้นทางขึ้นภูกระดึง ทางขึ้นค่อนข้างชันแต่จะมีจุดแวะพักที่ “ซำ” หมายถึง บริเวณที่มีแหล่งน้ำใต้ดินผุดขึ้นมาแต่ละจุดมีเครื่องดื่มและอาหารบริการ ผานกแอ่น อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 2 กิโลเมตร เป็นลานหินเล็ก ๆ มีสนขึ้นโดดเด่นริมหน้าผา เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่งดงาม สามารถมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างซึ่งเป็นท้องทุ่งและเทือกเขา ริมทางเดินใกล้ผานกแอ่นมีดอกกุหลาบป่าสีแดง สีขาวขึ้นเป็นดงใหญ่ ซึ่งบานสะพรั่งในเดือนมีนาคม-เมษายน

ผาหล่มสัก ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 8 กิโลเมตร เป็นลานหินกว้าง และมีสนต้นใหญ่อยู่ใกล้กับชะง่อนหินที่ยื่นออกไปจากหน้าผา เป็นสถานที่ชมพระอาทิตย์ตกได้ชัดเจนที่สุด และเป็นสัญลักษณ์ของภูกระดึงที่นักท่องเที่ยวจะต้องมาเก็บภาพกลับไป น้ำตกตาดฮ้อง เป็นน้ำตกที่อยู่ในเขตของอุทยานฯ(ด้านล่างของอุทยานฯ) ซึ่งอุทยานฯ เปิดให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวผจญภัย “ตามรอยเสรีไทย ท่องไพรตาดฮ้อง”

เนื่องจากเคยเป็นเส้นทางของขบวนการเสรีไทย ที่สร้างจากจังหวัดเลยไปยังจังหวัดเพชรบูรณ์ในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 เพื่อใช้เป็นเส้นทางหลบหลีกนำ จอมพล ป. ไปหลบภัยจากทหารญี่ปุ่น ตัวน้ำตกมีความสูง 40 เมตร เมื่อน้ำตกไหลลงมาจากหน้าผาสู่แอ่งน้ำจะมีเสียงดังกึกก้อง จึงได้ชื่อว่า “น้ำตกตาดฮ้อง”

นอกจากนี้ในเส้นทางยังมีสถานที่ท่องเที่ยว ได้แก่ ตาดห้วยวัว หาดทรายขาว แก่งหินตั้ง ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ และจุดชมวิวภูลาดม่วง เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวสามารถชมวิวทิวทัศน์ได้

นอกจากนี้ยังมี ผาหมากดูก ผาแดง ผาเหยียบเมฆ น้ำตกวังกวาง น้ำตกเพ็ญพบใหม่ น้ำตกโผนพบ น้ำตกเพ็ญพบ น้ำตกถ้ำใหญ่ น้ำตกธารสวรรค์ น้ำตกถ้ำสอเหนือ น้ำตกถ้ำสอใต้ สระอโนดาต เป็นต้น

อุทยานฯ เก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยว ชาวไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 400 บาท เด็ก 200 บาท และค่าบริการลูกหาบสัมภาระ กิโลกรัมละ 15 บาท นั

กท่องเที่ยวสามารถเช่าเต็นท์และบ้านพักได้ที่ที่ทำการอุทยานฯ โทร. 0 4287 1333, 0 4287 1458 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพฯ โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th

การเดินทาง จากตัวเมืองเลยใช้เส้นทางหมายเลข 201 เส้นเลย – ภูกระดึง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเลยประมาณ 75 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2019 อีก 8 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯ

ข้อแนะนำอีกอย่างหนึ่งของการขึ้นภูกระดึง คือก่อนมาท่องเที่ยวป่าเขาที่ภูกระดึง ควรสำรวจสุขภาพความพร้อมของร่างกายก่อนเดินทางเพราะต้องใช้เวลาเดินและปีนป่ายเขาที่มีระยะทางร่วม 9 กิโลเมตร (ขึ้นเขา 5 กิโลเมตร ทางราบอีกประมาณ 3-4 กิโลเมตร)

อุทยานฯ เปิดให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นภูกระดึง ตั้งแต่เวลา 07.00 – 14.00 น.

และอุทยานฯ จะปิดเพื่อฟื้นฟูสภาพป่า ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน ของทุกปี

 

                                               

อุทยานแห่งชาติภูเรือ : ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ และอำเภอท่าลี่ ทิศเหนือติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นภูเขาสูงใหญ่ บนยอดเขาเป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีต้นสนขึ้นสลับซับซ้อน ที่แปลกคือ มีส่วนหนึ่งเป็นผาชะโงกยื่นออกมาเหมือนหัวเรือสำเภาใหญ่ ทิวเขาเป็นเขาหินทรายและหินแกรนิตสลับกัน

สัตว์ป่าที่พบเห็นได้แก่ หมี เก้ง หมาใน ไก่ฟ้าพญาลอ เต่าปูลู บนยอดเขาสูงของอุทยานภูเรืออากาศจะเย็นตลอดปีและเป็นอุทยานที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว กระทั่งน้ำค้างบนยอดหญ้าจะแข็งตัวกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง ที่เรียกกันในภาษาพื้นเมืองว่า  “แม่คะนิ้ง” มีเนื้อที่ประมาณ 75,525 ไร่ ช่วงเดือนที่เหมาะที่จะมาเที่ยวคือเดือนตุลาคม-มีนาคม

สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ ได้แก่ จุดชมทิวทัศน์เดโช เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น ในวันที่อากาศดีนักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นภูต่าง ๆ ของเมืองเลยได้ ผาโหล่นน้อย อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามมาก

จากจุดนี้จะมองเห็นภูหลวง ภูผาสาด ภูครั่ง และทะเลภูเขาสลับซับซ้อน ผาซับทอง หรือ ผากุหลาบอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 2.5 กิโลเมตร เป็นหน้าผาสูงชัน และแหล่งน้ำซับที่มีพืชน้ำไลเคนสีเหลืองคล้ายสีทองขึ้นเต็มไปทั่ว

น้ำตกห้วยไผ่ ตั้งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่ไหลลงมาจากหน้าผาสูงชัน มีความสูงประมาณ 30 เมตร น้ำตกแห่งนี้นำไปใช้ทำน้ำประปาในอำเภอภูเรือด้วย ยอดภูเรือ เป็นจุดที่สูงที่สุดในอุทยานฯ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,365 เมตร บริเวณโดยรอบเป็นลานหินที่มีทุ่งหญ้าขึ้นแซมสลับกับป่าสน มีทั้งสนสองใบที่ขึ้นตามธรรมชาติและสนสามใบ ที่เป็นสนปลูก จากจุดนี้ในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสนักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นแม่น้ำเหืองและแม่น้ำโขงที่กั้นพรมแดนระหว่างไทย-ลาวได้

นอกจากนี้ยังมีจุดที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น ถ้ำหินแตก หินค้างหม้อ หินวัวนอน หินพานขันหมาก หินพระศิวะ สวนหินเต่า ทุ่งหินเหล็กไฟ ซึ่งหินเหล่านี้มีรูปร่างตามชื่อเรียก ตั้งอยู่ท่ามกลางทุ่งหญ้า ช่วงปลายฝนต้นหนาวมีดอกไม้เล็ก ๆ ขึ้นอยู่ทั่วไปน่าชมมาก

การเดินทางจากตัวเมืองเลยใช้ทางหลวงหมายเลข 203 เส้นทางเลย-ภูเรือ ระยะทางประมาณ ๕๔ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 49-50 ตรงที่ว่าการอำเภอภูเรือ เข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตร รถยนต์สามารถขึ้นได้ และมีทางเดินเท้า 700 เมตร ก็จะถึงยอดภูเรือ

อุทยานฯ มีบริการบ้านพักไว้สำหรับนักท่องเที่ยว สำรองที่พักล่วงหน้าได้ที่ ที่ทำการอุทยานฯ โทร. 0 4280 1716, 0 4280 7625 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760 หรือ www.dnp.go.th

 

                                           

พระธาตุศรีสองรัก : อยู่ริมฝั่งแม่น้ำหมัน ห่างจากตัวอำเภอด่านซ้ายประมาณ 1 กิโลเมตร หรือห่างจากตัวจังหวัด 83 กิโลเมตร พระธาตุศรีสองรักมีลักษณะศิลปกรรมแบบล้านช้าง องค์พระธาตุสูง 19.19 เมตร ฐานกว้างด้านละ 10.89 เมตร ฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อมุมไม้สิบสอง องค์ระฆังทรง “บัวเหลี่ยม” คล้ายพระธาตุพนม พระธาตุหลวง (เวียงจันทน์) พระธาตุศรีโคตรบอง (แขวงคำม่วน) และอีกมากมายแถบลุ่มน้ำโขง

พระธาตุศรีสองรักสร้างขึ้นถวายเป็นอุเทสิกเจดีย์ คือหมายถึงเจดีย์สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศให้พระศาสนา โดยไม่กำหนดว่าต้องเก็บรักษาสิ่งใด สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2103 เสร็จในปี พ.ศ.2106 สร้างขึ้นเพื่อเป็นสักขีพยานในความช่วยเหลือระหว่างกรุงศรีอยุธยา(สมัยพระมหาจักรพรรดิ)และกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ภายในวัดยังมีพระพุทธรูปปางนาคปรกศิลปะธิเบต

ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ชาวด่านซ้ายหรือ “ลูกผึ้งลูกเทียน” จะร่วมกันจัดงานสมโภชพระธาตุศรีสองรักขึ้นโดยจะนำต้นผึ้ง ประดิษฐ์จากโครงไม้ไผ่เป็นทรงหอปราสาทขนาดกว้าง 2 ฟุต สูง 2 ฟุตเศษ กรุรอบด้วยลวดลายงานแทงหยวกจากนั้นประดับด้วย “ดอกผึ้ง” ซึ่งทำจากแผ่นเทียนกลมๆ บางๆ ตากแดดแล้วจับเป็นกลีบ ตรงกลางติดดอกบานไม่รู้โรย หรือขมิ้นหั่นเล็กๆ ต่างเกสรดอกไม้สีสดใส เทียนเวียนหัว มาถวายองค์พระธาตุถือเป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี

ในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมจะมีการจัดงานนมัสการพระธาตุศรีสองรักขึ้นทุกปี เดินทางจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 203 เส้นเลย-ภูเรือ แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2013 อีก 15 กิโลเมตร ถึงอำเภอด่านซ้ายจากนั้นแยกขวาเข้าเส้นทาง 2113 อีก 1 กิโลเมตร

ข้อแนะนำเมื่อมาที่นี่ ไม่ควรนำสิ่งของหรือดอกไม้สีแดงขึ้นบูชา ไม่ควรแต่งกายด้วยชุดสีแดงขึ้นไปนมัสการ เพราะองค์พระธาตุสร้างขึ้นเพื่อสัจจะและไมตรี สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของเลือดและความรุนแรง ไม่ควรกางร่ม สวมหมวกและสวมรองเท้าขึ้นไปบนพระธาตุ ไม่ควรนำเด็กต่ำกว่า 3 ปีขึ้นไปนมัสการ ก่อนท่านจะทำหรือประกอบพิธีใด ๆ ที่เกี่ยวกับองค์พระธาตุขอให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าองค์พระธาตุก่อน

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านผีตาโขน : ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดโพนชัย ห่างจากอำเภอเมือง 82 กิโลเมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการศึกษาเกี่ยวกับงานประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขน อาคารเป็นเรือนไม้ จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเมืองด่านซ้าย นิทรรศการผีตาโขน

นอกจากนี้ยังมีอุโบสถ ซึ่งเป็นฝีมือของช่างท้องถิ่น และพระธาตุศรีสองรักจำลอง ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานบุญพระเวสและงานบุญต่าง ๆ รวมทั้งงานประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขนอีกด้วย ที่นี่จะมีการสาธิตการทำหน้ากากผีตาโขน และมีสินค้าที่ระลึกผีตาโขนในรูปแบบต่าง ๆ เปิดให้ชมทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. สอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอด่านซ้าย โทร. 0 4289 1094

วัดโพธิ์ชัยนาพึง : อยู่ที่บ้านนาพึง ตำบลนาพึง สันนิษฐานว่าสร้างประมาณปลายกรุงศรีอยุธยา พระพุทธรูปองค์แสนที่ประดิษฐานอยู่ในกุฏิเจ้าอาวาสเป็นพระพุทธรูปโบราณคู่บ้านคู่เมืองมาหลายชั่วอายุคน ประทับขัดสมาธิราบ พระพักตร์ยาวรี ยอดพระเมาลีเป็นเปลวเพลิง พระสังฆาฏิเป็นท้องนาค สันนิษฐานว่าเป็นพระเชียงแสน ภายในวิหารหรือ อาราม มีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติและวรรณกรรมท้องถิ่น ผนังด้านทิศเหนือมีจารึกว่าภาพเขียนดังกล่าวเขียนขึ้นเมื่อจุลศักราช 1214 ตรงกับ พ.ศ. 2395 ตรงกับช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ด้านนอกพระอุโบสถหลังเดียวกันนี้ยังมีภาพจิตรกรรม ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยหลังคือเมื่อปี พ.ศ. 2458 นับเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีค่ายิ่งแห่งหนึ่งของจังหวัดเลย ที่กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนวัดโพธิ์ชัยเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2530

การเดินทางใช้เส้นทางเลย-ด่านซ้าย ไปประมาณ 82 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2113 เส้นด่านซ้าย – นาแห้วไป 23 กิโลเมตร

 

                                            

 

สกายวอร์ค (Sky Walk) : สะพานกระจกลอยฟ้าแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดเลยนี้ ตั้งอยู่บนภูเขาปากน้ำเหือง บริเวณพระใหญ่ภูคกงิ้ว ติดแม่น้ำโขง บ้านท่าดีหมี ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย กระจกใสเป็นระยะทางกว่า 100 เมตร กว้าง 2 เมตร และสูงห่างจากแม่น้ำโขงถึง 80 เมตร ทัศนียภาพจากบนสกายวอล์คทำให้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของทั้งฝั่งไทยและสปป.ลาว ได้ในมุมสูง โดยมีแม่น้ำโขงกั้นระหว่างทั้งสองประเทศไว้ ทั้งตรงนี้ยังเป็นจุดที่แม่น้ำเหืองไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสองสีอีกด้วย

  • การเดินทางไปจังหวัด เลย
       

         รถยนต์  จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 3 เส้นทาง คือ
เส้นทางที่ 1 ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ผ่านจังหวัดสระบุรี แล้วแยกใช้ทางหลวงหมายเลข 21 ผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ จนถึงอำเภอหล่มสัก ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 203 ผ่านอำเภอหล่มเก่า อำเภอภูเรือ เข้าสู่จังหวัดเลย

เส้นทางที่ 2 ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แล้วแยกใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมา ไปจนถึงจังหวัดขอนแก่น แล้วแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 12 ผ่านอำเภอชุมแพ แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 201 ผ่านอำเภอภูกระดึง อำเภอหนองหิน อำเภอวังสะพุง จนถึงจังหวัดเลย

เส้นทางที่ 3 ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แล้วแยกใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) จนถึงอำเภอสีคิ้ว แยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านอำเภอด่านขุนทด อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ อำเภอแก้งคร้อ อำเภอภูเขียว อำเภอชุมแพ อำเภอภูกระดึง อำเภอหนองหิน อำเภอวังสะพุง จนถึงจังหวัดเลย

         โดยรถประจำทาง


      

          รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารประจำทางวิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-เลย ทุกวัน ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ ใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมง

การเดินทางโดยรถโดยสาร

สายการเดินรถ

บริษัท

โทรศัพท์

กรุงเทพฯ เลย

 

(เวลาเดินรถ 9 ชั่วโมง)

 

บ. ขนส่ง จำกัด

042-833586 , 02-9362841-48

บ. แอร์เมืองเลย จำกัด

02-360142 , 02-6072 , 042-832042

บริษัท ภูกระดึงทัวร์ จำกัด

02-9360159

                  เลย ชุมแพ ขอนแก่น              

(เวลาเดินรถ 5 ชั่วโมง)

บ. ขอนแก่น-เมืองเลย จำกัด

042-835586

   เลย หนองบัว อุดรธานี
(เวลาเดินรถ 2 ชั่วโมง 30 นาที)

บ. อุดร-เมืองเลย จำกัด

042-833586

โคราช เลย เชียงคาน  (เวลาเดินรถ 7 ชั่วโมง)

บ. นครชัยขนส่ง จำกัด

042-62036 , 042-4551 , 044-244545 , 044-241091

ระยอง-พัทยา-นครราชสีมา-ชัยภูมิ-เลย

(เวลาเดินรถ 13 ชั่วโมง 30 นาที)

บ. นครชัยขนส่ง จำกัด

042-62036 , 042-814551 , 044-2545 ,
044-244545  , 044-241091

      
 
 
เครื่องบิน  1. สนามบินจังหวัดเลย  เดินทางโดยสายการบินนกแอร์   
             2. สายการบินแอร์เอเชีย
 
 
แผนที่จังหวัดเลย

 

10 กรกฎาคม 2556 | จำนวนเข้าชม 22233 ครั้ง